6 ชนเผ่าสกลนคร
วัฒนธรรม และความเป็นมา 6 ชนเผ่าในจังหวัดสกลนคร กับความสวยงามที่มีที่มายาวนาน ไปดูกันว่าแต่ละชนเผามีความเป็นมาอย่างไรบ้าง
1. ชนเผ่าไทญ้อ
ไทญ้อส่วนใหญ่ได้อพยพ มาตั้งถิ่นฐานใหม่ที่ไชยบุรี ปากน้ำสงครามริมฝั่งแม่น้ำโขง (ตำบลไชยบุรี อำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน) ในสมัยรัชกาลที่ 1 เมื่อ พ.ศ. 2351 ต่อมาเมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ในสมัย รัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2369) พวกไทยญ้อที่เมืองไชยบุรีได้ถูกกองทัพเจ้าอนุวงศ์กวาดต้อนไป แล้วให้ไปตั้งเมืองอยู่ ณ เมืองปุงลิง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง (อยู่ในเขตแขวงคำม่วนประเทศลาว) อยู่ระยะหนึ่ง ต่อมาได้กลับมาตั้งเมืองขึ้นใหม่ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขง ตั้งเป็นเมืองท่าอุเทนเมื่อ พ.ศ. 2373 คือ บริเวณท่าอุเทน จังหวัดนครพนมในปัจจุบัน ศิลปะการแสดง ฟ้อนไทย้อ โดยจะพบในช่วงเทศกาลสงกรานต์เดือนเมษายน และเทศกาลที่สำคัญๆ เท่านั้น ในช่วงสงกรานต์นั้น ชาวไทย้อจะมีการสงน้ำพระในตอนกลางวันโดย มีการตั้งขบวนแห่จากคุ้มเหนือไปยังคุ้มใต้ตามลำดับ ตั้งแต่ขึ้นหนึ่งค่ำเป็นไป จนถึงวันเพ็ญสิบห้าค่ำเดือนห้า ส่วนในตอนกลางคืนหนุ่มสาวจะจัดขบวนแห่นำต้นดอกจำปา (ลั่นทม) ไปบูชาวัดที่ผ่านไป เริ่มจากวัดใต้สุดขึ้นไปตามลำดับถึงวัดเหนือสุดซึ่งเป็นคืนสุดท้าย เสร็จพิธีแห่ดอกไม้บูชาองค์พระธาตุท่าอุเทน จะเป็นช่วงแห่งการเกี้ยวพาราสี การหยอกล้อกัน อย่างสนุกสนานของบรรดาหนุ่มสาวชาวไทย้อ
2. ชนเผ่าภูไท
ชาวภูไท เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่ใหญ่ที่สุดรองลงมาจากกลุ่มไทลาว ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีแม่น้ำโขงแยกกลุ่มนี้ออกจากภูไทในภาคเหนือของลาว และญวน กลุ่มภูไทกลุ่มใหญ่ที่สุดอาจจะอยู่แถบลุ่มน้ำโขง และแถบเทือกเขาภูพานเช่น จังหวัดนครพนม ได้แก่อำเภอคำชะอี ธาตุพนม เรณูนคร นาแก จังหวัดสกลนคร ได้แก่ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้แก่ อำเภอกุฉินารายณ์ เขาวง สหัสขันธ์ ส่วนภูไทผู้เข้าสู่ภาคกลางในจังหวัดราชบุรี และเพชรบุรี ในย่านนั้นเรียกว่า ‘ลาวโซ่ง’
ฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนคร เป็นฟ้อนผู้ไทที่มีลีลาแตกต่างจากฟ้อนผู้ไทในท้องถิ่นอื่น เนื่องจากฟ้อนผู้ไทจังหวัดสกลนครจะสวมเล็บ คล้ายฟ้อนเล็บทางภาคเหนือ ปลายเล็บจะมีพู่ไหมพรมสีแดง ใช้ผู้หญิงฟ้อนล้วนๆ ท่าฟ้อนที่ชาวผู้ไทสกลนครประดิษฐ์ขึ้นนั้นมีเนื้อเพลงสลับกับทำนอง การฟ้อนจึงใช้ตีบทตามคำร้องและฟ้อนรับช่วงทำนองเพลง ท่าฟ้อนมีดังนี้ ท่าดอกบัวตูม ท่าดอกบัวบาน ท่าแซงแซวลงหาด ท่าบังแสง ท่านางไอ่เลาะดอน หรือนางไอ่เลียบหาด ท่านาคีม้วนหาง ดนตรีใช้กลองกิ่ง แคน กลองตุ้ม กลองแตะ กลองยาว ฆ้องโหม่ง พังฮาด ไม้กั๊บแก๊บ
3. ชนเผ่าไทโย้ย
ไทโย้ย เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีประวัติความเป็นมาของการอพยพมาจากบ้านหอมท้าวประเทศลาวในสมัยรัชกาลที่2 สาเหตุของการอพยพ เนื่องจากต้องการแสวงหาพื้นที่ทำมาหากิน และอพยพมาด้วยความสมัครใจไม่ได้ถูกกวาดต้อนหรือขับไล่โดยได้อพยพข้ามแม่น้ำโขงอาศัยแม่น้ำศรีสงครามและแม่น้ำยามตามลำดับ แล้วมาตั้งถิ่นฐานบริเวณที่เรียกว่าบ้านม่วงริมยาม ปัจจุบันอยู่ในเขตอำเภออากาศอำนวย และอีกส่วนหนึ่งก็ได้อพยพเคลื่อนต่อไปทางทิศตะวันตกของอำเภออากาศอำนวยเข้าไปอยู่ในอำเภอวานรนิวาสชาวโย้ยเข้ามาอาศัยในบ้านม่วงริมยามซึ่งเป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ระหว่างเขตจังหวัดสกลนครและจังหวัดนครพนม(สาเหตุที่เรียกว่าบ้านม่วงริมยามเพราะมี ลำน้ำยามไหลผ่าน)บริเวณนี้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกมาก จึงทำให้มีราษฎรจากที่อื่นอพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมากขึ้น
4. ชนเผ่าไทกะโส้
ถิ่นฐานดั้งเดิมของพวกกะโซ่เดิมอยู่ที่เมืองมหาชัย ในแขวงคำม่วนและแขวงสุวรรณเขต ดินแดนลาวปัจจุบัน สำหรับเมืองมหาชัย เดิมชาวบ้านเรียกว่า “เมืองภูวา-นากะแด้ง” คือเมืองภูวดลฯ และบ้านนากะแด้ง เพราะว่าในสมัยที่ยังขึ้นกับราชอาณาจักรไทย (ก่อน พ.ศ.2436) เรียกว่า เมืองภูวดลสอางค์ เคยขึ้นกับเมืองสกลนคร แล้วโอนมาขึ้นกับเมืองนครพนมในตอนปลายสมัยรัชกาลที่ 5 ชาวกะโซ่อพยพ มาอยู่ในเขตเมืองสกลนคร นครพนม และมุกดาหาร ในสมัยรัชกาลที่ 3 ส่วนชาวกะโซ่ซึ่งอพยพมาจากแขวงอัดปือไปอยู่ในท้องที่จังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดสุรินทร์ เรียกว่าพวก “ส่วย” หรือ “กุย” พูดภาษาเดียวกับพวกกะโซ่พวกกะโซ่ซึ่งอพยพเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 ได้ตั้งขึ้นเป็นเมืองหลายเมืองคือ
1. เมืองรามราช เป็นชาวกะโซ่จากเมืองเชียงฮ่ม
2. เมืองกุสุมาลย์มณฑล เป็นชาวกะโซ่ที่อพยพมาจากเมืองมหาชัยในแขวงคำม่วน
5. ชนเผ่าไทกะเลิง
เป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่งในหลาย ๆ กลุ่มที่อาศัยอยู่ในจังหวัดสกลนคร มีประวัติความเป็นมา การเลือกหลักแหล่งทำมาหากิน วัฒนธรรม ความเชื่อ ตลอดจนภาษาพูดที่มีสำเนียงหรือถ้อยคำที่นิยมใช้กันเฉพาะในกลุ่มของตน ชนเผ่ากะเลิง เป็นกลุ่มที่ชอบอาศัยอยู่ในพื้นที่ราบสูง ตามไหล่เขาและเมื่อกลุ่มกะเลิงลงมาอยู่พื้นที่ราบปะปนกับโย้ย ญ้อ ต่อมามีผู้นำชาวกะเลิงที่สมัครใจอพยพขึ้นไปตั้งหลักแหล่งบนเทือกเขาภูพาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแถบบ้านบัว อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร ซึ่งไม่ปรากฎหลักฐานว่า เริ่มตั้งหลักแหล่งเมื่อใด แต่สันนิษฐานว่า ชาวกะเลิงอพยพมาอยู่ประมาณ 150 ปีมาแล้ว
6. ชนเผ่าไทลาว
กลุ่มไทยลาว หรือทั่วไปเรียกว่า “ชาวอีสาน” ที่เป็นกลุ่มที่ใหญ่ที่สุด มีประชากรมากที่สุดในอีสาน ซึ่งชาวภาคกลาง มักจะเรียกชนกลุ่มนี้ว่า “ลาว” เพราะว่า มีภาษาพูดเป็นภาษาเดียวกับคนลาวในสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) แต่ความจริงแล้วเป็นภาษาไทยสาขาหนึ่ง ซึ่งมีวัฒนธรรมเหนือกว่ากลุ่มอื่นๆ เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมลุ่มน้ำโขงแต่โบราณ (ร่วมกับไทยเวียง หรือ ชาวเวียงจันทน์) มีตัวอักษรของตนเองใช้มาแต่สมัยอยุธยาเป็นอย่างน้อย และอาจจะร่วมสมัยสุโขทัย ตัวอักษรที่ใช้มี 2 แบบ คือ อักษรไทยน้อย และอักษรไทยธรรม “อักษรไทย”น้อย เป็นอักษรสุโขทัยสาขาหนึ่ง ส่วน “อักษรตัวธรรม” เป็นอักษรที่ได้ต้นแบบอักษรมอญโบราณ คล้ายอักษรตัว เมืองของภาคเหนือ มีวรรณกรรมท้องถิ่นของตนเอง
ประวัติศาสตร์กลุ่มชาติพันธุ์ชนเผ่าไทยอีสาน กลุ่มชาติพันธุ์ไทยลาวหรือชาวอีสาน ที่มีการตั้งหลักปักฐานอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หากตีความแล้ว หมายถึงคนเชื้อชาติไทยที่อยู่ในภาคอีสานของประเทศไทย
การแต่งกายของชนชาติไท-ลาวผู้ชาย เมื่ออยู่กับบ้านจะนุ่งกางเกงขาก๊วยสั้น สวมเสื้อม่อฮ่อม แขนสั้น คาดผ้าขาวม้าตาตาราง เมื่อออกไปนอกบ้านเพื่อร่วมงานบุญ จะนุ่งโสร่ง สวมเสื้อคอกลมแขนสั้น มีผ้าขาวม้าคล้องคอส่วนผู้หญิงจะนุ่งซิ่น นิยมนุ่งซิ่นผ้าฝ้ายมาแต่เดิม และพัฒนาผ้าฝ้ายเป็นการทอผ้ามัดหมี่ลวดลายต่างๆ ผ้าซิ่น ไม่มีเชิงทั้งที่เป็นผ้าเข็น(ทอ) และผ้ามัดหมี่ฝ้าย หรือไหม เสื้อแบบเสื้อของชนเผ่าไทยลาว แม้จะเป็นเสื้อย้อมสีน้ำเงินแก่ แบบเสื้อคล้ายกับชนเผ่าอื่นๆ