ตำนานการสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวงและพระธาตุภูเพ็ก
พระธาตุภูเพ็ก
พระธาตุนารายณ์ เจงเวง
พระธาตุภูเพ็ก
ตั้งอยู่ที่ตำบลนาหัวบ่อ อำเภอพรรณานิคม ผู้ที่จะไปนมัสการพระธาตุต้องเดินขึ้นบันไดประมาณ 491 ขั้น จะถึงองค์พระธาตุซึ่งสร้างอยู่บนยอดเขาภูพาน องค์พระธาตุสร้างด้วยหินทรายบนฐานศิลาแลง มีผังเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม ด้านหน้าเชื่อมต่อกับมณฑป รูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ชั้นที่ 1 สูงประมาณ 1.58 เมตร ชั้นที่ 2 สูงประมาณ 0.70 เมตร ตัวปราสาทสูง 7.67 เมตร ซึ่งยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ไม่มีหลังคา และยอดปราสาท เพียงแต่ทำขื่อตั้งไว้เท่านั้น พระธาตุภูเพ็กสร้างขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 16 เพื่อเป็นศาสนสถานในศาสนาฮินดู ภายหลังดัดแปลงเป็นพุทธศาสนสถานและมีการยกเรื่องประวัติศาสตร์ การก่อสร้างไว้ในตำนานพระอุรังคธาตุ หรือตำนานพระธาตุพนม ซึ่งกล่าวไว้ว่า พระธาตุภูเพ็กสร้างโดยกลุ่มผู้ชายเพื่อแข่งขันกับกลุ่มผู้หญิงซึ่งสร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวงเพื่อรอบรรจุพระอุรังคธาตุของพระพุทธเจ้า แต่กลุ่มผู้ชายได้ยุติการสร้างเมื่อเห็นดาวเพ็กบนท้องฟ้า ซึ่งเป็นกลลวงของกลุ่มผู้หญิงผู้สร้างพระธาตุนารายณ์เจงเวง ปราสาทหลังนี้จึงได้ชื่อว่า ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก ตามชื่อดาว “เพ็ก” นักพิภพวิทยาท่านหนึ่ง คือ คุณสรรค์สนธิ บุณโยทยาน สนใจศึกษาการใช้แท่งหินนี้ และนำเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาประมวลผลด้านดาราศาสตร์ พบว่าเมื่อใส่ข้อมูลพิกัดตำแหน่งของปราสาท เส้นรุ้งที่ 17 องศาเหนือและใส่วันที่ปรากฏการณ์สำคัญต่าง ๆ จะได้มุมกวาดเป็น 65, 90 และ 115 องศา ซึ่งเป็นตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้น หมุนเวียน โดยในวันเริ่มต้นของปี จะเป็นวันที่เวลากลางวันเท่ากับเวลากลางคืน ดวงอาทิตย์ทำมุมฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลก ตรงกับวันที่ 21 มีนาคม เป็นฤดูใบไม้ผลิ หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะค่อย ๆ เคลื่อนไปทางทิศเหนือ จนถึงจุดที่ไกลที่สุด ซึ่งจะเป็นวันที่กลางวันยาวที่สุด ตรงกับวันที่ 21 มิถุนายน จัดว่าเป็นฤดูร้อน จ.สกลนคร อยู่เส้นรุ้ง 17 องศาเหนือ กลางวันจะมี 13 ชั่วโมง ขณะเดียวกันเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนมาถึงจุดที่ไกลที่สุดทางทิศใต้ ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี ตรงกับวันที่ 21 ธันวาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาว จ.สกลนครจะมีกลางวัน 11 ชั่วโมง ได้มีการทดสอบแนวแสงอาทิตย์ด้วยลูกดิ่งหลายครั้ง พบว่า แนวแสงจะพาดผ่านช่องสี่เหลี่ยมช่องใดช่องหนึ่งพอดี เมื่อตรงกับวันที่ ดังกล่าวข้างต้น เพราะฉะนั้นตำแหน่งที่ใช้ก่อสร้างปราสาทขอม ซึ่งรวมถึงปราสาทภูเพ็ก จึงต้องเป็นบริเวณที่โล่งแจ้ง ไม่มีสิ่งรกร้างที่จะกั้นแสงอาทิตย์ได้ การสร้างปราสาทหินภูเพ็กนี้สันนิษฐานว่า สร้างขึ้นในยุคสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ประมาณปี พ.ศ. 1742 สร้างจากก้อนหินทรายทรงสี่เหลี่ยม วางทำมุมฉาก ตามแนวทิศตะวันออก-ตก มีศิวลึงค์อยู่ด้านตะวันออก โดยมีด้านเปิดให้แสงอาทิตย์เข้าไปเพียงด้านเดียว ให้แสงสาดตรงที่ ณ ตำแหน่งของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในปราสาท
พระธาตุนารายณ์เจงเวง
พระธาตุนารายณ์เจงเวง เป็นพระธาตุเก่าแก่สมัยเดียวกันกับพระธาตุเชิงชุม แต่ศิลปะการก่อสร้าง ผิดไปคนละแบบ พระธาตุองค์นี้สร้างด้วยศิลาแลง แบบเดียวกับปราสาทหินพิมาย แต่มีขนาดเล็กกว่า เป็นปรางค์แบบของ องค์พระธาตุแบ่งเป็นหลายส่วน คือ ส่วนที่เป็นฐาน ส่วนที่เป็นองค์หลังคาและส่วนยอด ส่วนที่เป็นฐานก่อด้วยศิลาแลง ก้อนขนาดใหญ่มีเอวคอดกิ่วเหมือนพานดอกไม สูง 18 ซม. กว้างด้านละ 15 เมตร องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยม ส่วนที่เป็นหลังคาและยอด ปัจจุบันหักพังหมดแล้ว ยังคงเหลือแต่องค์พระธาตุ ซึ่งมีประตูและซุ้มประตูด้านทิศเหนือและทิศตะวันออก ยังพอเห็นความวิจิตรงดงามอยู่พอสมควร ด้านทิศตะวันออกต่อจากประตูออกมาก่อเป็นคูหายื่นออกมาข้างนอก 3 เมตร มีบันได้ 7 ขั้น ก่อนถึงองค์พระธาตุ วงกบประตูสลักอย่างดี มีร่องรอยบัวแบบประตูโบราณทำด้วยศิลาแท่งใหญ่ บนซุ้มประตูสลักลวดลายงดงาม ด้านทิศเหนือ เป็นประตูเช่นเดียวกับด้านอื่นๆ แต่ซากที่เหลืออยู่เด่นกว่าประตูด้านอื่นๆ
ตำนานการสร้างพระธาตุทั้งสอง
เมื่อจะพูดถึงประวัติการสร้าง “ปราสาทพระธาตุภูเพ็ก” ในมิติของตำนาน เรื่องเล่าขานนับแต่โบราณกาล คงจะต้องพูดถึง “ตำนานพระธาตุพนม” หรือ “ตำนานอุรังคธาตุ” เนื่องจาก “ตำนานการสร้างปราสาทพระธาตุภูเพ็ก” เป็นเรื่องย่อยตอนหนึ่ง ที่อยู่ในตำนานอุรังคธาตุ(หรืออุรังคนิทาน) ตำนานอุรังคธาตุได้บอกเล่าถึงเรื่องราวความเป็นมาของปราสาทเขมรโบราณสองหลังในภูมิภาคอีสานเหนือ ของจังหวัดสกลนคร ปราสาทหนึ่งตั้งอยู่ที่ชานเมืองโบราณรูปสี่เหลี่ยมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ “นครหนองหารหลวง” อีกปราสาทตั้งอยู่บนยอดเขายอดหนึ่งของเทือกเขา “ภูพาน” ที่อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันตกประมาณ 17 กิโลเมตร ใน“ตำนานอุรังคธาตุ” แห่งล้านช้าง – อีสานเหนือ ได้เล่าความเป็นมาของซากศาสนสถานเก่าแก่ที่ร้างราผู้คนไปในยุคก่อนหน้าไว้ว่า…..
เมื่อครั้งถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแห่งองค์พระศากยมุนีเป็นที่สิ้นสุดแล้ว พระเถระมหากัสสปะได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุเดินทางมายังดินแดนแถบอีสานเพื่อจะไปบรรจุมหาสถูปที่ภูกำพร้า (พระธาตุพนม) ตามที่เคยมีพุทธทำนายเอาไว้แต่กาลก่อน ครั้นเมื่อพระยาสุวรรณภิงคาร กษัตริย์แห่งเมืองหนองหารหลวงทราบข่าวการเดินทางมายังสุวรรณทวีปของพระเถระมหากัสสปะ ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะขอแบ่งพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐานไว้แก่บ้านเมือง จึงได้ตระเตรียมสร้างอุโมงค์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ก่อนล่วงหน้า โดยโปรดให้ชาวเมืองฝ่ายชายและฝ่ายหญิงแข่งกันสร้างอุโมงค์ให้เสร็จภายในคืนเดียว หากฝ่ายใดเสร็จก่อนก็จะได้นำพระอุรังคธาตุไปบรรจุไว้ให้เป็นพระมหาธาตุ ฝ่ายหญิงเลือกพื้นที่ชานเมืองหนองหารหลวงเป็นที่ก่อสร้าง ส่วนฝ่ายชายเลือกยอดดอยแท่น โดยทั้งสองฝ่ายมีข้อตกลงกันว่า หากเมื่อฝ่ายใดเห็นดาวเพ็ก (ดาวศุกร์/ดาวประกายพรึก) ขึ้นบนท้องฟ้าตะวันออกในยามรุ่งสางแล้ว ก็ให้หยุดการก่อสร้างในทันที ระหว่างการก่อสร้าง ฝ่ายหญิงทำท่าจะสู้ไม่ได้ จึงได้คิดอุบายหลอกฝ่ายชาย โดยชักโคมไฟลอยขึ้นบนท้องฟ้า ลวงฝ่ายชายว่าเป็นเวลาย่ำรุ่งสางแล้ว เมื่อฝ่ายชายเห็นโคมไฟ ก็พากันคิดว่าเป็นดาวเพ็กขึ้นจริง จึงหยุดการก่อสร้าง ส่วนฝ่ายหญิงก็สร้างอุโมงค์ต่อไปจนเสร็จสิ้นสมบูรณ์ แต่เมื่อขบวนอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุผ่านมาถึง พระมหากัสสปะทราบเรื่องการสร้างอุโมงค์ จึงแจ้งแก่ชาวเมืองหนองหารหลวงว่า ไม่สามารถแบ่งพระบรมสารีริกธาตุให้ได้ เพราะต้องนำไปไว้ยังภูกำพร้า ตามพุทธบัญชา แต่ก็ได้มอบ “ธาตุพระอังคาร” (เถ้าถ่าน) ให้ไว้บรรจุในอุโมงค์ของฝ่ายหญิงแทน ซึ่งก็คือ “ปราสาทพระธาตุนายณ์เจงเวง” ในปัจจุบัน (ชื่อ “พระธาตุนารายณ์เจงเวง” มีที่มาจากคำว่า เชิง – แวง (ขา-ยาว) หมายความถึงรูปสลักพระนารายณ์ขายาว ที่สลักอยู่บนหน้าบันปราสาทหินทางฝั่งทิศใต้)
รูปสลักพระนารายณ์ขายาว
ส่วนอุโมงค์ศิลาที่ฝ่ายชายสร้างค้างคาไว้ หมายถึง “ปราสาทภูเพ็ก” หรือ “พระธาตุภูเพ็ก” ที่ตั้งชื่อตามนามของดาวเพ็ก ดาวรุ่งหรือดาวประกายพรึก ที่ปรากฏเรื่องราวในตำนานนั่นเอง แต่ถึงแม้ ฝ่ายชายจะสร้างอุโมงค์บนยอดดอยแท่นไม่เสร็จสิ้น ในช่วงเวลาต่อมาที่ยังปรากฏในตำนานอุรังคธาตุ ก็ยังไม่ลืมเรื่องราวของซากปราสาทเก่าแก่บนยอดเขา จึงยังคงกล่าวถึง “อุโมงค์ศิลาที่ยอดภูเพ็ก” ไว้อีกว่า “…..ถึงพ.ศ. 500 พระอรหันต์ทั้ง 5 องค์ อันได้แก่ พระสังขวิชาเถระ พระมหารัตนเถระ พระจุลรัตนเถระ พระมหาสุวรรณปราสาทเถระ และพระจุลสุวรรณปราสาทเถระ พร้อมด้วยพระยาสุมิตธรรมวงศา กษัตริย์แห่งมรุกขนคร ได้ร่วมกันบูรณะพระธาตุพนมที่ดอยกะปะณะคีรี (ภูกำพร้า) สูงขึ้นประมาณ 24 เมตรและได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุออกมาประดิษฐานบนพานทองคำ ”…อมรฤๅษีและโยธิกฤๅษี ขึ้นไปนำอุโมงค์ศิลาบนยอดเขาภูเพ็กมาตั้งไว้ชั้นบนของพระธาตุ ชั้นที่ 2ซึ่งอยู่สูง 14 เมตรแล้วพระสุมิตธรรมวงศาได้อัญเชิญพระอุรังคธาตุ สถาปนาไว้บนพระเจดีย์ศิลานั้น …..”