ประวัติความเป็นมา อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
สภาพที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอวาริชภูมิ ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองสกลนคร มีพื้นที่ 476.125 ตารางกิโลเมตร
หรือประมาณ 297,578.125 ไร่ ห่างจากเทศบาลนครสกลนครประมาณ 69 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 71 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดิน และอำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร และอำเภอวังสามหมอ จังหวัดอุดรธานี
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพังโคน อำเภอพรรณานิคม และอำเภอนิคมน้ำอูน จังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร
อำเภอเมืองประกอบไปด้วย 5 ตำบลดังนี้
1. ตำบลค้อเขียว
2. ตำบลคำบ่อ
3. ตำบลหนองลาด
4. ตำบลปลาไหล
5. ตำบลวาริชภูมิ
ภาพ : Tong jaisangma
ประวัติและความเป็นมาอําเภอวาริชภูมิ
การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อำเภอวาริชภูมิ พบหลักฐานเก่าแก่ถึงยุคก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียงสมัยปลาย ดังมีการค้นพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินผา ตะกรันจากการถลุงเหล็กในบริเวณบ้านคำบ่อ บ้านตาดภูวง บ้านทุ่งเชือก ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร แสดงให้เห็นถึงการกระจายตัวของ กลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง เมื่อประมาณ 2,300-1,800 ปีมาแล้ว
เมื่อพุทธศตวรรษที่ 15-16 พบหลักฐานสำคัญ คือ พระพุทธรูปนั่ง ณ วัดถ้ำพระพุทธไสยาสน์ (ถ้ำพระทอง) บ้านป่าโจด ตำบลค้อเขียว อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร มีอายุอยู่ในช่วงรอยต่อระหว่างวัฒนธรรมทวารวดีและวัฒนธรรมเขมร ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 23 วัฒนธรรมล้านช้างเจริญรุ่งเรือง จนมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนในกลุ่มวัฒนธรรมไทลาว ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรล้านช้างดังปรากฏการสร้างธาตุเจดีย์ศาสนสถานในพระพุทธศาสนามากกว่าหนึ่งแห่ง อาทิเช่น พระธาตุศรีมงคล บ้านธาตุ ตำบลวาริชภูมิ และพระธาตุดงเชียงเครือ บ้านดงเชียงเครือ ตำบลปลาโหล อำเภอวาริชภูมิ
จังหวัดสกลนคร พร้อมกับหลักฐานประเภทภาชนะเครื่องปั้นดินเผาจากกลุ่มเตาสุ่มน้ำสงครามกระจายตามชุมชนในเขตพื้นที่อำเภอวาริชภูมิ
วัดพระธาตุศรีมงคล
ภาพ : ศูนย์ศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม
ต่อมาพบว่า ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงวัฒนธรรมล้านช้างถูกทิ้งร้างไป คงเนื่องมาจากความอ่อนแอของอาณาจักรล้านช้าง จนมาถึงรัชสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวผู้ไทเมืองกะปองหรือกะป๋อง กลุ่มหนึ่งโดยมีท้าวคำเขื่อนเป็นหัวหน้าได้รับการเกลี้ยกล่อมจากทางการสยามให้อพยพข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งถิ่นฐานอยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำ แต่ท้าวคำเขื่อนได้ถึงแก่กรรมเสียก่อน ท้าวราชนิกูลผู้เป็นบุตรจึงได้พาครอบครัวและบ่าวไพร่อพยพเข้าสู่เมืองสกลนคร โดยเจ้าเมืองและกรมการเมืองสกลนคร์ได้จัดสรรพื้นที่ให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ด้านทิศเหนือและทิศตะวันตกเฉียงเหนือของตัวเมือง (บริเวณคุ้มวัดสะพานคำในปัจจุบัน) ต่อมาท้าวราชนิกูล
ผู้เป็นหัวหน้าเห็นว่า ชาวภูไทอัตคัดที่ทำกิน จึงพาราษฎรผู้ไทย้ายออกจากเมืองสกลนคร คราวนั้นกรมการเมืองสกลนครได้ออกไปห้ามปรามเอาไว้แต่ไม่เป็นผล แต่พากันมุ่งหน้าสู่พื้นที่ราบเชิงเทือกเขาภูพานตั้งเป็น “บ้านพุ่ม” แต่ก็เกิดความอัตคัดอีก ท้าวราชนิกูลจึงพาราษฎรอพยพไปตั้งบ้านเรือนขึ้นที่บ้านหนองหอยหรือนาหอย ในแขวงเมืองสกลนคร เมื่อปีพุทธศักราช 2390
อย่างไรก็ตามทางกรมการเมืองสกลนครได้มาเกลี้ยกล่อมให้ท้าวราชนิกูลพาราษฎรกลับไปอาศัยอยู่ท้องที่เดิมในเมืองสกลนคร และเมื่อปีพุทธศักราช 2419 ท้าวราชนิกุลได้ขอยกบ้านหนองหอยขึ้นเป็นเมืองแต่กรมการเมืองสกลนครยังไม่เสนอขึ้นทูลเกล้า ท้าวราชนิกูลจึงให้ท้าวสุพรหม บุตรชายไปร้องเรียนต่อทางราชการ แต่ติดขัดที่กรมการเมืองสกลนครไม่ยื่นเรื่องดำเนินการขอยกบ้านหนองหอยให้เป็นเมืองท้าวราชนิกูลกับท้าวสุพรหมจึงอพยพออกจากเมืองสกลนครกลับมาอยู่ที่บ้านหนองหอยตามเดิม ในปีพุทธศักราช 2399 ท้าวราชนิกูลกับท้าวสุพรหม จึงได้ขอร้องให้พระพิทักษ์เขตขันธ์ เจ้าเมืองหนองหาน ขอพระราชทานยกฐานะบ้านหนองหอยขึ้นเป็นเมือง ต่อมาในปี พ.ศ.2420 เจ้าเมืองหนองหานจึงมีใบบอก กราบบังคมทูลขอตั้งบ้านป่าเป้าเมืองไพร ในแขวงเมืองหนองหานเป็นเมืองวาริชภูมิ แล้วให้ท้าวสุพรหม เป็นพระสุรินทร์บริรักษ์ (สุพรหม) เป็นเจ้าเมืองวาริชภูมิขึ้นต่อเมืองหนองหาน
แต่ภายหลังตั้งเมื่อเป็นเมืองแล้วราษฎรชาวเมืองวาริชภูมิก็ไม่ได้ย้ายไปอยู่ที่บ้านป่าเป้าเมืองไพร แต่ยังคงอาศัยอยู่ที่บ้านหนองหอย แขวงเมืองสกลนครตามเดิม การที่ราษฎรเมืองวาริชภูมิไม่ไปอยู่ในท้องที่ตามตราภูมิเมืองนั้น ทำให้เกิดปัญหาเรื่องตัวเลือกระหว่างเมืองหนองหานและเมืองสกลนคร ในปีพุทธศักราช2439 ทางราชการจึงให้เมืองวาริชภูมิทำราชการขึ้นต่อเมืองสกลนคร ด้วยเหตุที่เมืองวาริชภูมิไม่ไปตั้งอยู่ในท้องที่บ้านป่าเป้าเมืองไพร แขวงเมืองหนองหาน
หลวงสมัครวาริชกิจ (หล้า) ตำแหน่งปลัดเมือง
หลวงสฤษดิ์วาริชการ (พิมพ์) และขุนสมานวาริชภูมิ (คำตัน) ตำแหน่งศาลเมือง
ขุนราชมหาดไทย (เคน) ตำแหน่งมหาดไทยเมือง
ขุนบริบาล (วันทอง) ตำแหน่งนครบาลเมือง
ขุนพรหมสุวรรณ์ (เพชร) ตำแหน่งคลังเมือง
ขุนศรีสุริยวงศ์ (บุตร) ตำแหน่งโยธาเมือง
ปีพุทธศักราช 2445 เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอำเภอวาริชภูมิ โดยอำเภอวาริชภูมิ อยู่ในบริเวณสกลนคร และปีพุทธศักราช 2450 พระสุรินทร์บริรักษ์ (สุพรหม) ลาอกจากราชการ ทางราชการจึงให้ พระบริบาล ศุภกิจ (คำสาย) ผู้พิพากษาบริเวณสกลนคร (พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย) เป็นต้นสกุล “ศิริขันธ์”) ไปเป็นนายอำเภอวาริชภูมิ ภายหลังได้ย้ายไปเป็นนายอำเภอไชยบุรี ทางราชการจึงย้ายขุนไชยประชานุบาล (แฉ่ง นวานุช) ให้มาทำหน้าที่แทน และปีพุทธศักราช 2456 ทางราชการให้ยุบเมืองวาริชภูมิเป็นตำบลวาริชภูมิ อยู่ในเขตการปกครองของอำเภอพรรณานิคม ภายหลังเมื่อปีพุทธศักราช 2469 ประกาศให้เป็น กิ่งอำเภอวาริชภูมิ อำเภอพรรณานิคม แล้วจึงได้รับการยกฐานะเป็น “อำเภอวาริชภูมิ” ขึ้นจังหวัดสกลนคร