ประวัติความเป็นมา อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
สภาพที่ตั้งและอาณาเขต
อำเภอพังโคน ตั้งอยู่ตอนกลางค่อนไปทางทิศตะวันตกของอำเภอเมืองสกลนคร มีพื้นที่ 383.8 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 239,875 ไร่ ห่างจากเทศบาลสกลนครไปตามทางหลวงแผ่นดิน หมายเลข 22 เป็นระยะทางประมาณ 54 กิโลเมตร แบ่งพื้นที่การปกครองออกเป็น 5 ตำบล 70 หมู่บ้าน มีอาณาเขตติดต่อกับเขตการปกครองข้างเคียงดังต่อไปนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับอำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร
ทิศใต้ ติดต่อกับอำเภอพรรณานิคม และอำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันออก ติดต่อกับอำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
ทิศตะวันตก ติดต่อกับอำเภอสว่างแดนดิน จังหวัดสกลนคร
อำเภอเมืองประกอบไปด้วย 5 ตำบลดังนี้
1. ตำบลพังโคง
2. ตำบลม่วงไข่
3. ตำบลไฮหย่อง
4. ตำบลแร่
5. ตำบลต้นผึ้ง
ประวัติและความเป็นมาอําเภอพังโคน
การตั้งถิ่นฐานในพื้นที่อำเภอพังโคน พบหลักฐานเก่าแก่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ในกลุ่มวัฒนธรรม บ้านเชียงสมัยตอนปลาย ดังปรากฏการค้นพบเศษภาชนะเครื่องปั้นดินเผา และตะกรันจากการถลุงเหล็ก กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในบริเวณเขตเทศบาลตำบลพังโคน อาทิเช่น บริเวณสี่แยกพังโคน (บริเวณ อาคารพาณิชย์ให้เช่าของโรงเรียนบ้านพังโคนจำปา) วัดศรีจอมธาตุ
วัดศรีบุญเรือง และรอบนอกบริเวณ บ้านหนองโจด ตำบลไฮหย่อง บ้านม่วงไข่ ตำบลม่วงไข่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร
แสดงถึงการกระจายตัวของกลุ่มวัฒนธรรมบ้านเชียง เมื่อประมาณ 2,300-1,800 ปีมาแล้ว
ต่อมาราวพุทธศตวรรษที่ 23 วัฒนธรรมล้านช้างเจริญรุ่งเรือง มีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คน กลุ่มวัฒนธรรมไทลาว ภายใต้อำนาจการปกครองของอาณาจักรล้านช้าง โดยขุนนางท้องถิ่นดังปรากฎ ในจารึกวัดบ้านแร่ (วัดเหนือศรีสะอาด) ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงการอุทิศที่ดิน สร้างวัด และจารึกธาตุสร้างบ้านแร่ (วัดธาตุศรีบุญเรื่อง) ตำบลแร่ อำเภอพังโคน จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงการอุทิศที่ดินให้แก่วัดของผู้ปกครองในท้องถิ่น เมื่อจุลศักราช 712 (พุทธศักราช 1893) โดยจารึกหลัก เป็นจารึกหลักนี้เป็นอักษรไทยน้อยที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดของประเทศไทยในขณะนี้
ศิลาจารึกบ้านแร่ ตำบลแร่ อำเภอพังโคน
ต่อมาภายหลังพบว่า ศาสนสถานที่สร้างขึ้นในช่วงวัฒนธรรมล้านช้างถูกทิ้งร้างไป เนื่องมาจากความอ่อนแอของอาณาจักรล้านช้าง และเมื่อสยามมีอำนาจเหนืออาณาจักรล้านช้างบรรดาชุมชนเริ่มปรากฎตัวขึ้นอีกครั้ง และพบว่าหลายชุมชนในอำเภอพังโคนตั้งทับซ้อนอยู่บนชุมชนโบราณ ครั้นล่วงมาถึงในรัชสมัยรัตนโกสินทร์ ชาวผู้ไทจากเมืองกะปองหรือเมืองกะป๋องนำโดยท้าวแก้ว ได้ข้ามแม่น้ำโขงมาตั้งหมู่บ้านจำปานำโพนทอง ทำราชการอยู่ในเขตแดนเมืองสกลนคร และขณะนั้นมีโจรผู้ร้ายชุกชุมมากทำให้กรมการเมืองสกลนครมีใบบอกขึ้นกราบทูล ขอยกบ้านจำปานำโพนทองขึ้นเป็นเมือง ให้ท้าวแก้วเป็นเจ้าเมือง แต่ด้วยเหตุว่า บ้านจำปานำโพนทองมีท้าวเพี้ย มีคนมากพอเป็นกำลังปราบปรามโจรผู้ร้ายได้ ในพุทธศักราช 2421 จึงมีการโปรดเกล้าฯ ยกบ้านจำปานำโพนทอง เป็น “เมืองจำปาชนบท” ทำราชการขึ้นต่อเมืองสกลนคร ให้ท้าวแก้วเป็นพระบำรุงนิคมเขตร (แก้ว) ทำราชการตำแหน่งเจ้าเมือง
ภายหลังจากพระบำรุงนิคมเขตร (แก้ว) ถึงแก่กรรมลง อุปฮาด (คำไขย) เป็นผู้รักษาราชการแทนจึงได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระปทุมเทวาพิทักษ์ และได้รับพระราชทานเป็นพระบำรุงนิคมเขตร (คำไขย) เจ้าเมืองจำปาชนบท เมื่อถึงปีพุทธศักราช 2440 มณฑลจัดการเปลี่ยนระเบียบตำแหน่งกรมการเมืองให้เหมือนกันทุกเมืองตามระเบียบกรมการหัวเมืองชั้นใน จึงให้พระปทุมเทวาพิทักษ์ (คำไขย) จากตำแหน่งเจ้าเมืองเป็นผู้ว่าราชการเมือง หลวงประเทศรักษา (หนู) เป็นตำแหน่งปลัดเมือง หลวงโยธาภักดี (เม้า) และขุนโยธีพิทักษ์ (ด้วง) ตำแหน่งศาลเมือง ขุนมหาดไทย (อินทร์) ตำแหน่งมหาดไทยเมือง ขุนกัตติยะ (สา)ตำแหน่งนครบาลเมือง ขุนสุริยะ (เคน) ตำแหน่งคลังเมือง ขุนวรสิทธิ์ (ตา) ตำแหน่งโยธาเมือง
ในปีพุทธศักราช 2445 ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเป็นอำเภอจำปาชนบท โดยให้อำเภอจำปาชนบทอยู่ในบริเวณสกลนคร และปีพุทธศักราช 2445 ทางมณฑสมีคำสั่งให้ยุบอำเภอจำปาชนบทรวมเข้ากับอำเภอพรรณานิคม ครั้งนั้นพระบำรุงนิคมเขตร (คำไขย) ผู้ว่าราชการเมืองจำปาชนบท จึงได้พาครอบครัวพร้อมด้วยราษฎรจำนวนหนึ่งย้ายไปยังบ้านม่วง ต่อมาทางราชการยกกลับขึ้นเป็นอำเภอจำปาชนบทดังเดิม โดยให้หลวงพิจารย์อักษร (เส พรหมสาขา ณ สกลนคร) บุตรพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร) อักษรเลขจังหวัดสกลนคร มาเป็นนายอำเภอจำปาชนบท แต่เป็นอำเภอได้ในระยะหนึ่งจึงถูกยุบลงเป็นตำบลขึ้นกับอำเภอพรรณานิคม ระยะหลังราษฎรส่วนใหญ่ย้ายมาอยู่บ้านพังโคนหรือดอนพังโคน เมื่อมีผู้คนเข้ามาอยู่มากจึงมีฐานะเป็นตำบลพังโคนส่วนตัวเมืองเดิมเรียก”บ้านจำปานาเหมือง” หรือ “บ้านนาเหมือง” เท่านั้น ภายหลังทางราชการได้ประกาศให้ตำบลพังโคนเป็นกิ่งอำเภอเมื่อปี พ.ศ.2511 และแยกออกจากอำเภอพรรณานิคมยกฐานะเป็น “อำเภอพังโคน” ในปีพ.ศ.2514 ขึ้นกับจังหวัดสกลนคร