ตำนาน

ความเชื่อเรื่อง “นาค” กับตำนาน “พระทอง-นางนาค”

เขมรเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีเรื่องตำนานเกี่ยวข้องกับ “นาค” อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะตำนานนางนาคกับพระทองที่มีความสำคัญมาก ถึงกับกล่าวว่าเป็นนิทานที่เล่าถึงบรรพบุรุษของตนทีเดียว “ตำนานพระทอง-นางนาค” ของเขมรน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของ “อาณาจักรจามปา” ที่พบในเวียดนาม

สรุปเนื้อความว่า พราหมณ์โกณฑัณยะผู้ได้รับหอกมาจาก “พราหมณ์อัศวัตถามัน” บุตรแห่งพราหมณ์โทรณะ ได้พุ่งหอกนั้นไปเพื่อสร้างราชธานี ต่อจากนั้นจึงได้สมรสกับธิดาพระยานาคผู้มีนามว่า “โสมา” และได้สืบเชื้อวงศ์ต่อมา
ตำนานพื้นบ้าน “พระทอง – นางนาค” เล่าว่า เมื่อพุทธศักราชผ่านไปได้ ๖๑๐ หรือ ๖๗๐ ปีนั้น “เกาะโคทลอก” มีแผ่นดินงอกกว้างใหญ่ไพศาล พระราชาจาม (กษัตริย์จามพระองค์นี้ ทรงพระนามอัศไชยราช ครองกรุงอินทปัตถบุรี) ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานบนแผ่นดินนั้นอยู่ก่อน หลังจากนั้นได้มีพระราชาอีกองค์หนึ่งทรงพระนาม “พระทอง” ซึ่งเคยอยู่ที่เมืองมอญ พระองค์ต้องโทษทัณฑ์จึงต้องเสด็จด้วยเรือสำเภาลำหนึ่ง โดยเสด็จมาพร้อมไพร่พลบริวารและเข้ามาขอพระราชาจามอาศัย ณ เกาะนั้น
ในอดีตชาติ “พระทอง” ถือกำเนิดเป็นตะกวดอยู่ในโพรงต้นหมันซึ่งขึ้นอยู่ที่กลาง “เกาะโคกทลอก” ครั้นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จมาประทับ ณ ใต้ต้นหมันนั้นเพื่อฉันจังหัน ตะกวดเห็นจึงออกมาก้มหัวคำนับ ๓ ครั้ง พระพุทธองค์จึงปั้นก้อนข้าวโยนไปให้ เมื่อตะกวดกินข้าวอิ่มก็แลบลิ้นเลียทำให้ปลายลิ้นแยกเป็น ๒ แฉก พระพุทธองค์จึงทรงทำนายโดยบอกแก่พระอานนท์ว่า
”ต่อไปในภายหน้า เกาะโคกทลอกนี้จะเกิดเป็นนครใหญ่ พรั่งพร้อมด้วยอำนาจ ส่วนตะกวดที่ออกมาก้มคำนับตถาคตนี้จะได้ไปเกิดเป็นมนุษย์ และจะได้เสวยราชย์ในนครเป็นพระราชาพระองค์แรกของแผ่นดินนี้ แต่ผู้คนในนครไม่ค่อยมีความสัตย์เพราะผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินเป็นสัตว์มีลิ้น ๒ แฉก เมื่อตะกวดตายไปจึงมาเกิดเป็นพระทองที่มาขออาศัยแผ่นดินพระราชาจามอยู่ในเวลานี้”
เมื่ออยู่นานไป พระทองเกิดขัดแย้งกับพระราชาจามในเรื่องแย่งดินแดน ทั้งคู่โต้เถียงกันไม่หยุดจนเลิกนับถือกัน พระทองด้วยเหตุที่จะได้เป็นใหญ่แห่งเกาะนั้นและเพราะได้นมัสการพระพุทธองค์มานับแต่อดีตชาติ จึงเป็นผู้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด เมื่อเวลาดึกสงัดได้ทรงพาอำมาตย์ซึ่งเป็นที่ไว้พระทัย นำเอาทองก้อนหนึ่งที่ปลอมจารึกพงศาวดารไปฝังดินไว้ที่โคนต้นหมัน ในจารึกมีความว่า ‘ได้มาหักร้างถางป่าบนดินแดนที่เป็นเกาะนี้ตั้งแต่เพิ่งมีขึ้น และได้ฝังทองก้อนเท่าผลมะขวิดไว้ที่โคนต้นหมันลึก ๓ ศอก ไว้เป็นหลักฐาน ผืนแผ่นดินนี้ต้องให้พระทองผู้เป็นหลาน’
จากนั้นพระทองจึงสั่งให้ทหารไปไล่พระราชาจามออกไปจากดินแดนนั้นโดยอ้างถึงจารึกที่ตนปลอมขึ้น ถึงแม้พระราชาจามจะไม่เชื่อ คิดจะยกกองทัพมาโจมตี แต่ฝ่ายพระทองด้วยคาดการณ์ไว้จึงชิงโจมตีก่อนและจับพระราชาจามกับไพร่พลได้ พระราชาจามทรงอ้อนวอนขอชีวิตโดยยินยอมที่จะถวายแผ่นดินและไพร่พลให้ พระราชาจามด้วยความคับแค้นใจถึงกับกระอักโลหิตสิ้นพระชนม์
หลังจากนั้นพระทองเกิดกลัดกลุ้มพระทัย จึงทรงชักชวนไพร่พลบริวารออกเที่ยวตามเนินทรายที่เพิ่งงอกขึ้นใหม่ เมื่อเสด็จออกเป็นเวลาน้ำลดจึงทรงท่องเที่ยวไปได้ แต่เมื่อน้ำขึ้นพระองค์จึงทรงหาที่บรรทมเพื่อรอเวลาน้ำลดจะได้กลับพระนคร ครั้นเมื่ออาทิตย์ลับขอบฟ้าพระจันทร์ก็ขึ้นเต็มดวงทอแสงกระจ่างนภา
ฝ่ายนางทาวดี ซึ่งเป็นธิดาพญานาคราชนครบาดาล เกิดความร้อนรุ่มอยู่ในปราสาทไม่ได้ เข้าไปกราบขออนุญาตพระบิดาจะพาไพร่บริวารหญิงแทรกแผ่นดินขึ้นเที่ยวเล่นยังโลกมนุษย์ นางทาวดีและบริวารพากันกลิ้งเกลือกเล่นน้ำตามประสานาคไปเรื่อยจนถึงเกาะใหญ่ริมทะเล อาจเป็นเพราะกุศลกรรมแต่ปางก่อนให้นางนาคเป็นคู่ครองพระทอง จึงบันดาลให้ไพร่พลของพระทองหลับไปจนหมดเหลือเพียงพระทองแต่ผู้เดียว พระทองได้ยินเสียงมนุษย์พูดกระซิบกระซาบจึงลุกขึ้นมอง ทรงเห็นเหล่าสตรีเรียงรายอยู่เป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงทรงเสด็จเข้าไปใกล้และตรัสถามให้รู้เรื่องราวว่าเป็นใครและมาจากที่ใด
นางทาวดีจึงกราบทูลว่าตนเป็นพระธิดาพญานาค ฝ่ายพระทองที่ทรงมีพระทัยสเน่หานางทาวดีตั้งแต่แรกเห็นจึงเกี้ยวพาและขอให้เป็นอัครมเหสีใหญ่ นางทาวดีจึงกราบทูลว่าตนต้องลงไปกราบทูลขอจากพระราชบิดาเสียก่อน และถวายหมากคำหนึ่งไว้แทนใจแก่พระทองว่าจะไม่ผิดสัญญา จากนั้นนางจึงกลับไปยังเมืองนาค เมื่อพระราชบิดาทรงทราบเรื่องราวทั้งหมดก็ยินยอมตามที่พระธิดาปรารถนา ทรงให้จัดไพร่พลบริวารพร้อมเครื่องบรรณาการแห่แหนพระธิดากลับมายังโลกมนุษย์ และทรงสั่งให้ไพร่พลนาคซึ่งมีฤทธิ์อำนาจสูบน้ำให้แห้งเกิดเป็นแผ่นดินกว้างใหญ่ขึ้น และเนรมิตให้เป็นปราสาทราชวังพร้อมสรรพ
ฝ่ายพระทองก็เข้าไปถวายบังคมพระราชบิดามารดาของนางทาวดี พญานาคราชทรงสั่งให้พระทองเตรียมตัว จะจัดให้มีพระราชพิธีอภิเษกและจะให้เสวยราชสมบัติ และเมื่อเสร็จพระราชพิธี ณ ที่นี้แล้วจะต้องไปจัดที่เมืองของพระราชานาคอีกเพื่อให้เหล่านาคได้รู้จัก อีกทั้งจะถวายพระนครและพระนามของทั้งสองให้ใหม่อีกด้วย
พระทองได้ฟังดังนั้นก็กังวลพระทัยมากเพราะเห็นว่าพระองค์เป็นมนุษย์ จะแทรกแผ่นดินไปเมืองนาคได้อย่างไร นางทาวดีเมื่อทราบเรื่องจึงกราบทูลว่า เพียงพระทองจับชายสไบของนางให้แน่นอย่าปล่อยให้หลุดมือก็จะเสด็จไปได้ ส่วนไพร่พลที่ต้องเข้ากระบวนแห่ทั้งหมดนั้นต้องให้เกาะชายพระภูษาของพระทองให้แน่นก็จะไปถึงเมืองนาคได้เช่นกัน และก็เป็นเช่นนั้นจริง หลังจากที่พระทองพร้อมกระบวนไพร่พลบริวารเดินทางลงถึงเมืองนาค
พระราชานาคก็ได้จัดพระราชพิธีอภิเษกให้แล้วได้ถวายพระนามให้ใหม่ทั้งสองพระองค์คือ พระทองเป็น พระบาทอาทิจจวงษา และนางทาวดีเป็น พระนางทาวธิดา เกาะโคธลอกเป็นกรุงกัมพูชาธิบดี โดยราชานาคทรงจัดเสนานาคที่มีอิทธิฤทธิ์ ๒ ตัวมาคอยเฝ้าคุ้มครองปกป้องแก่กรุงกัมพูชาธิบดีด้วย
ด้วยเหตุนี้จึงเกิดประเพณีปฏิบัติสืบมา คือเมื่อตอนส่งตัวบ่าวสาวเข้าเรือนหอ เจ้าบ่าวต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวให้แน่น ตามอย่างที่พระทองเกาะสไบนางทาวดีเพื่อลงไปเข้าพิธีอภิเษกยังเมืองนาคนั่นเอง”

นิทานพระทองที่คัดลอกมานั้นชวนให้ตั้งคำถามมากมาย เช่นที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ (1)* ตั้งข้อสังเกตว่า ในนิทานสำนวนแรกที่เล่าว่าพระทองเป็นโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์จามแล้วมาแต่งงานกับนางนาค นิทานสำนวนนี้มีโครงเรื่องคล้ายกับนิทานที่พบในจารึกจามปาเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะจากอินเดียมาแต่งงานกับนางนาคโสมา ตรงนี้นำไปสู่การตีความได้หรือไม่ว่าเรื่องพระทองโอรสกษัตริย์จามกับนางนาคอาจเป็นตำนานดั้งเดิมก่อนเกิดตำนานเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะที่พบในจารึก

(1)* เอกสารหลักที่ใช้ในการเรียบเรียงคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ, นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.

ทั้งนี้เพราะจามเป็นพวกที่นับถือฮินดูก่อนมาเปลี่ยนเป็นมุสลิมในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีหลักฐานหลายข้อที่สนับสนุนคำอธิบายว่า จามเป็นพวกที่บุกเบิกการค้าทางทะเลกับผู้คนแถบนี้มาก่อน จึงน่าจะมีความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมกับผู้คนในแถบนี้มาแต่ดึกดำบรรพ์ พระทองจึงอาจเป็นสัญลักษณ์ของพวกจามมากกว่าพวกพราหมณ์จากอินเดียก็เป็นได้ แต่ถึงกระนั้นพระทองก็ยังเป็นตัวแทนของศาสนาฮินดูอันสืบมาจากทิศตะวันตก (อินเดีย) อยู่ดี
ในขณะเดียวกันนิทานสำนวนหลังที่ว่าพระทองหนีมาจากมอญนั้น อาจเป็นเครื่องสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระหว่างกรุงกัมพูชากับอาณาจักรพุกาม โดยเฉพาะอาจเกี่ยวกับการสืบทอดศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จากมอญสู่กัมพูชา ทั้งนี้มีหลักฐานว่าราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ หรือหลัง พ.ศ. ๑๗๐๐ กัมพูชาได้เปลี่ยนจากการนับถือฮินดูมาเป็นนับถือพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์ ซึ่งน่าจะแพร่มาจากลังกาเข้าดินแดนมอญ-พม่า ผ่านสยามประเทศแล้วจึงมาถึงกัมพูชา

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพระทองจะเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายใด แต่นิทาน “พระทอง-นางนาค” ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “นาค” เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้มั่งคั่งมั่นคง ทั้งนี้ก็ด้วยแรงเสน่หาของพระทองกับนางนาคที่ถือเป็นต้นตระกูลชาวเขมร จนเกิดเป็นประเพณีที่เจ้าสาวต้องจีบหมากพลูคำหนึ่งใส่มือเจ้าบ่าว รวมทั้งประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวตอนส่งตัวเข้าห้องหอ และเกิดเป็นบทเพลงนางนาคกับพระทองที่ยังคงมีบรรเลงตราบจนปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของคติความเชื่อเรื่องนาคในดินแดนอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง

นิทานสำนวนนี้คัดลอกจาก ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร (ภาคที่ ๑-๙) แปลจากภาษาเขมรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประยูร ทรงศิลป์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี, ๒๕๔๐.

แชร์ไปที่

Facebook
Twitter
Email

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น