4 วัดดังไม่ควรพลาด! หลังโควิดต้องCheck in @พรรณานิคม
อำเภอพรรณานิคม
“พระธาตุภูเพ็กงดงาม วัดถ้ำขามร่มรื่น ภาคพื้นกสิกรรม
วัฒนธรรมเผ่าภูไท ธรรมมะสดใสหลวงปู่ฝั้น”
หากพูดถึงอำเภอพรรณนานิคมแล้ว ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าต้องนึกถึงพระเกจิรูปต่างๆ วัดสวยๆบนเขา วันนี้เราจะพาทุกท่านไปเที่ยวชมความงามของธรรมชาติและทำบุญไปด้วย ถ้าพร้อมแล้ว…สตาร์ทเครื่องยนต์แล้วไปกันเลยยยยยยย………….
– แสนสบาย –
พระธาตุภูเพ็ก
เราเริ่มต้นทริปนี้โดยการไปชมธรรมชาติและนมัสการพระพุทธรูปในพระธาตุภูเพ็กครับซึ่งพระธาตุภูเพ็กตั้งอยู่ที่ตำบลนาหัวบ่อ บนเส้นทางหลวงสายสกลนคร-อุดรธานี ทางหลวงหมายเลข 22 ห่างจากตัวเมืองสกลนครไปประมาณ 22 กิโลเมตร มีทางแยกซ้ายไปอีก 14 กิโลเมตร เป็นทางรถยนต์ลาดยางจากถนนเข้าไปตถึงหมู่บ้านภูเพ็ก เป็นทางลาดยาง และเป็นระยะทางลาดยางขึ้นภูเพ็ก อีก 4 กิโลเมตรซึ่งช่วงนี้เป็นเส้นทางขึ้นภูเขาสูงคดเคี้ยวให้ใช้ความเร็วอย่างระมัดระวังด้วยนะครับ
องค์พระธาตุตั้งอยู่บนยอดเขาภูพาน หากต้องการขึ้นไปชมและนมัสการพระธาตุต้องเดินขึ้นบันได 496 ขั้น อยากจะบอกเลยครับทำเอาเหนื่อยเหมือนกันฮ่า ๆ แต่ก็คุ้มนะครับบรรยากาศดี ร่มรื่นครับ พอขึ้นไปถึงจะเห็นซุ้มประตูทางเข้าสร้างด้วยหินทรายตัดเป็นบล๊อก 4 เหลี่ยมวางซ้อนกันด้านบนของซุ้มประตูแกะสลักเป็นภาพใบหน้าของเทวดาอย่างสวยงามตัวพระธาตุสร้างด้วยหินทรายอยู่บนฐานศิลาแลง มีผังรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสย่อมุม หลังคาปราสาทเปิดโล่ง และด้านในประดิษฐานพระพุทธรูปศิลปะแบบขอมเอาไว้อยู่ ซึ่งพระธาตุแห่งนี้ก็จะมีสิ่งปลูกสร้างเหมือนกับปราสาทขอมที่เราได้เคยเห็นเกือบทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นบ่อน้ำที่สร้างอยู่ข้างพระธาตุ และศิลปะต่างๆ ที่สามารถมองเห็นได้ภายในพระธาตุแห่งนี้ตามตำราการสร้างปราสาทของขอมโบราณ นอกจากศาสนสถานอันงดงามแล้วด้านบนที่ตั้งพระธาตุภูเพ็ก ยังมีธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ให้ได้เดินเล่นถ่ายรูปสวยๆ กันได้ ไม่ว่าจะเป็นจุดชมวิวสวยๆ หรือซุ้มป่าไผ่โค้งที่ให้ความร่มรื่น สามารถเดินเที่ยวได้รอบพระธาตุเลย
หลังจากไว้พระ ขอพร ถ่ายภาพเดินชมธรรมชาติเสร็จแล้วเราเดินทางต่อไปที่วัดถ้ำขามครับ
วัดถ้ำขาม
วัดถ้ำขาม หรือ ภูขาม ชาวบ้านมักเรียกว่า ภูคำขาม อยู่ในเขตบ้านคำข่า ตั้งอยู่บนภูขาม ซึ่งเป็นเขาลูกหนึ่งบนเทือกเขาภูพาน ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม ตามเส้นทางสายสกลนคร-อุดรธานี (ถนนนิตโย) ก่อนถึงอำเภอพรรณานิคมเล็กน้อย มีทางเข้าได้หลายเส้นทางเช่น เส้นทางเข้าพระธาตุภูเพ็ก หรือทางบ้านไร่ ถ้ำขามนี้เดิมเป็นที่ปฏิบัติธรรมของพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ท่านได้จำพรรษาอยู่ที่วัดนี้จนถึงประมาณ พ.ศ. 2507 ท่านอาพาธจึงได้ไปจำพรรษาที่วัดป่าอุดมสมพร นอกจากนี้ยังเป็นวัดหนึ่งที่เก็บอัฐิของพระอาจารย์เทศก์ เทศรังสี ซึ่งมีผู้คนยังเดินทางมาสักการะบูชาอยู่เป็นประจำครับ ขับรถมาได้สักพักเราก็มาถึงที่หมายครับ
พอขึ้นมาถึงลานจอดรถวัดถ้ำขาม วัดแห่งนี้ตั้งอยู่บนเขาที่เรียกกันว่าภูขาม ภูเล็กๆ ที่ขับรถขึ้นมาได้ง่ายๆ ด้วยความสงบของพื้นที่บริเวณนี้จึงถูกเลือกโดยอาจารย์ฝั้น ให้เป็นสถานที่ปลีกวิเวกปฏิบัติธรรม ที่นี่มีผู้คนแวะเวียนมาสักการะสถานที่ที่ท่านอาจารย์ฝั้น และหลวงปู่เทศก์ เคยจำพรรษาอยู่ ลานจอดรถกว้างใหญ่รอต้อนรับเราอยู่แล้วครับและจะมีร้านค้าเล็กๆ อยู่ร้านเดียว มีดอกไม้บริการให้สำหรับถือขึ้นไปสักการะเจดีย์และรูปเหมือนของเกจิทั้งสองท่านครับ
จากลานจอดรถ เราต้องเดินต่อไปอีกแต่ก็ไม่ไกล มีสะพานทางเดินพร้อมบันไดที่สร้างไว้ให้เดินสะดวก สิ่งสำคัญยิ่งบนนี้คือถ้ำขาม และเทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ ตอนเดินตามทางเดินขึ้นไปยังวัดที่อยู่บนยอดเขา จะมีมีลิงอาศัยอยู่ ต้องระวังลิงแย่งของ และห้ามให้อาหารลิงตามทางเดินเพื่อไม่ให้ลิงมารอขออาหารบริเวณนี้เดินพ้นบันไดมาแล้วก็จะมาเจอลานหินบนยอดเขา มีต้นไม้ขึ้นแต่ไม่มากส่วนใหญ่เป็นต้นไม้เล็กๆ ที่ขึ้นบนดินที่มีอยู่ไม่มากบนลานหิน มีศาลาหลังเล็กๆ ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรให้ได้สักการะ
จากลานหินเดินไปอีกไม่ไกลเป็นที่ตั้งของเจดีย์ทรงสี่เหลี่ยมสีขาวสูงเด่นตระหง่านอยู่กลางลานหิน ล้อมรอบด้วยลีลาวดีสีขาว เป็นภาพที่สวยงามมากตั้งแต่แรกเห็นและผมไม่อยากเชื่อว่ามีเจดีย์ที่สวยงามแบบนี้อยู่บนเขาที่เหมือนลานหินแบบนี้ครับ เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ เป็นเจดีย์สี่เหลี่ยมจตุรัส มีฐาน 2 ชั้น ประตูเข้าออก 4 ด้าน เป็นกระจกใส ตั้งอยู่บนลานหินเกือบสุดหน้าผาเหนือถ้ำขาม ที่บันไดทางขึ้นเจดีย์ จะมีแผ่นป้ายจารึกประวัติหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ไว้ให้ศึกษากันด้วยครับ น่าสนใจมากๆ อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสครับ
ถัดไปไม่ไกลจะมีผาหินเหนือถ้ำขาม ลานหินด้านล่างฐานของเจดีย์ เป็นลานหินที่เหมือนหลังคาถ้ำขาม ตรงส่วนปลายลานหินเป็นหน้าผาลงไป มีพื้นที่ห้ามผู้หญิงเดินบริเวณผาส่วนปลายเพราะเป็นบริเวณที่อยู่เหนือถ้ำที่อาจารย์ฝั้นเคยปฏิบัติธรรมอยู่ และในถ้ำขามก็ยังมีพระพุทธรูปและรูปเหมือนอาจารย์ฝั้นไว้ให้สักการะกันอีกด้วย จากหน้าผาแห่งนี้จะมองเห็นวิวที่สวยงามของป่าเขาด้านล่าง ทางเดินไปกุฏิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี จากถ้ำขาม มีทางเดินลงมาอีกด้าน เป็นพื้นที่บริเวณที่พำนักของสงฆ์ หรือเขตสังฆาวาส ที่นี่จะมีกุฏิของหลวงปู่เทสก์ ซึ่งเป็นสถานที่ละสังขารของหลวงปู่ด้วย ทางวัดได้รักษากุฏิหลังนี้เอาไว้ เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ทางเดินไปกุฏิหลวงปู่เทสก์จะมีผาหินแกะสลักพระพุทธรูปปางไสยาสน์ไว้ด้วย พื้นที่ตรงนี้เรียกกันว่า ถ้ำเสือ ซึ่งพระพุทธรูปปางไสยาสน์แกะสลักสวยงามมาก ในกุฏิหลวงปู่เทสก์ เทสรังสี พอเดินขึ้นบันไดมาบนกุฏิ จะมีห้องกระจกอยู่ เป็นห้องที่หลวงปู่เทสก์ปลงสังขาร ภายในห้องประกอบด้วยเตียงที่ท่านนอนปลงสังขาร มีโซฟาและรถเข็นสมัยที่ท่านยังอยู่ ด้านในสุกจะมีรูปเหมือนและเครื่องอัฐบริขารของท่าน พระอัฐิธาตุหลวงปู่เทสก์อยู่ในห้องกระจกห้องเดียวกันกับเตียงที่ท่านปลงสังขาร ส่วนอีกห้องหนึ่งบนกุฏิหลังเดียวกัน เป็นห้องที่มีหุ่นขี้ผึ้งพระอาจารย์ฝั้น
หลังจากเดินชมสถานที่ต่างๆ ของวัดถ้ำขามแล้วอยากให้ทุกคนได้ลองเดินเลาะมาบนริมผาหินใกล้เทสกเจดีย์ เทสรังสีอนุสรณ์ ชมวิวด้านล่างของป่าเขาที่มามารถมองเห็นทิวทัศน์ได้อย่างเต็มที่ป่าไม้ ทิวเขา ชุมชนต่างๆและรับลมเย็นสบายๆบนยอดเขาที่เงียบสงัด สมกับเป็นสถานที่ที่ถูกเลือกเพื่อการปลีกวิเวกปฏิบัติธรรมของอาจารย์ฝั้น อาจาโร
พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี
จากนั้นเราจะเดินทางไปต่อที่พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์ครบรอบ 100 ปี หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดอาจาโรรังสี บ้านคำข่า ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม พอเรามาถึงเราจะเจอกับอาคารพิพิธภัณฑ์ที่เป็นอาคารคอนกรีตทรงไทยสองชั้น ชั้นล่างจะใช้เป็นที่อบรมและปฏิบัติธรรม ส่วนชั้นบนจัดแสดงทันตธาตุ อัฐิ รวมถึงประวัติของหลวงปู่เทสก์ การจัดแสดง ชั้นบนของอาคารเป็นห้องโถงโล่ง กลางโถงอาคารประดิษฐานพระพุทธปฏิมาประธานปางมารวิชัย พุทธศิลป์สมัยเชียงแสนสิงห์ 3 พร้อมพระอัครสาวกทั้งคู่ซึ่งเป็นพระพุทธรุ)องค์สำคัญที่นี่ บริเวณผนังทั้งสองด้านของอาคารจัดแสดงเรื่องราวประวัติของหลวงปู่เกี่ยวกับเรื่องการบวชเรียน จำพรรษา และฝึกวิปัสสนากรรมฐานกับพระกรรมฐานาจารย์ต่าง ๆ โดยเป็นการเล่าเรื่องผ่านภาพถ่าย ซึ่งพิพิธภัณฑ์สามารถจัดแสดงข้อมูลและประวัติที่น่าสนใจได้อย่างดี และมีข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับชีวประวัติของหลวงปู่อีกด้วย อยากให้ทุกคนได้มาสัมผัสครับ
พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร
หลังจากนั้นเราเดินทางต่อไปที่พิพิธภัณฑ์อาจารย์ฝั้น อาจาโร ซึ่งตั้งอยู่ที่วัดป่าอุดมสมพร ตำบลพรรณานิคม อำเภอพรรณนานิคม วัดป่าอุดมพรเป็นวัดที่พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร เกจิอาจารย์สายวิปัสสนากรรมฐานเคยจำพรรษาอยู่ โดยอาคารพิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ภายในสวน ลักษณะตัวพิพิธภัณฑ์ มีความงดงามของตัวอาคารที่เป็นเอกลักษณ์เป็นรูปเจดีย์ฐานกลมกลีบ บัวสามชั้น ภายในมีรูปปั้นพระอาจารย์ฝั้นมีขนาดเท่ารูปจริง ในท่านั่งห้อยเท้า และถือไม้เท้าไว้ในมือ มีตู้กระจกบรรจุอัฐิ และแสดง เครื่องอัฐบริขารที่ท่านใช้เมื่อยามมีชีวิต รวมทั้งประวัติความเป็นมาตั้งแต่เกิดจนมรณภาพ พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร พระเกจิชื่อดัง แห่งภาคอีสานครับ
สำหรับสายบุญอยากมาสำผัสเล้นทางการจาริกแสวงบุญของพระอรหันต์แห่งดินแดนอีสาน ผมขอแนะนำทริปนี้เป็นอีกทริปที่น่าสนใจและไม่ควรพลาด หลังโควิดไปไหว้พระทำบุญกันนะครับ
– แสนสบาย –