ความเชื่อเรื่อง “นาค” กับตำนาน “พระทอง-นางนาค”
เขมรเป็นอีกชนชาติหนึ่งที่มีเรื่องตำนานเกี่ยวข้องกับ “นาค” อย่างแนบแน่น โดยเฉพาะตำนานนางนาคกับพระทองที่มีความสำคัญมาก ถึงกับกล่าวว่าเป็นนิทานที่เล่าถึงบรรพบุรุษของตนทีเดียว “ตำนานพระทอง-นางนาค” ของเขมรน่าจะมีความเกี่ยวข้องกับศิลาจารึกภาษาสันสกฤตของ “อาณาจักรจามปา” ที่พบในเวียดนาม
นิทานพระทองที่คัดลอกมานั้นชวนให้ตั้งคำถามมากมาย เช่นที่ สุจิตต์ วงษ์เทศ (1)* ตั้งข้อสังเกตว่า ในนิทานสำนวนแรกที่เล่าว่าพระทองเป็นโอรสองค์หนึ่งของกษัตริย์จามแล้วมาแต่งงานกับนางนาค นิทานสำนวนนี้มีโครงเรื่องคล้ายกับนิทานที่พบในจารึกจามปาเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะจากอินเดียมาแต่งงานกับนางนาคโสมา ตรงนี้นำไปสู่การตีความได้หรือไม่ว่าเรื่องพระทองโอรสกษัตริย์จามกับนางนาคอาจเป็นตำนานดั้งเดิมก่อนเกิดตำนานเรื่องพราหมณ์โกณฑิณยะที่พบในจารึก
(1)* เอกสารหลักที่ใช้ในการเรียบเรียงคือ สุจิตต์ วงษ์เทศ, นาคในประวัติศาสตร์อุษาคเนย์, กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๖.
อย่างไรก็ดี ไม่ว่าพระทองจะเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายใด แต่นิทาน “พระทอง-นางนาค” ชี้ให้เห็นชัดเจนว่า “นาค” เป็นผู้สร้างบ้านแปลงเมืองให้มั่งคั่งมั่นคง ทั้งนี้ก็ด้วยแรงเสน่หาของพระทองกับนางนาคที่ถือเป็นต้นตระกูลชาวเขมร จนเกิดเป็นประเพณีที่เจ้าสาวต้องจีบหมากพลูคำหนึ่งใส่มือเจ้าบ่าว รวมทั้งประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องเกาะชายสไบเจ้าสาวตอนส่งตัวเข้าห้องหอ และเกิดเป็นบทเพลงนางนาคกับพระทองที่ยังคงมีบรรเลงตราบจนปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ยืนยันถึงความยิ่งใหญ่ของคติความเชื่อเรื่องนาคในดินแดนอุษาคเนย์ได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
นิทานสำนวนนี้คัดลอกจาก ประชุมเรื่องตำนานและนิทานพื้นบ้านเขมร (ภาคที่ ๑-๙) แปลจากภาษาเขมรโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประยูร ทรงศิลป์ ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สถาบันราชภัฏธนบุรี, ๒๕๔๐.